ตำรวจ - ทหาร » ตาก/จเรตำรวจแห่งชาติประชุม ฉก.88 ขับเคลื่อนงานป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ตาก/จเรตำรวจแห่งชาติประชุม ฉก.88 ขับเคลื่อนงานป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

4 เมษายน 2025
60   0

Social Share

จเรตำรวจแห่งชาติประชุม ฉก.88 ขับเคลื่อนงานป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ผอ.ฉก.88) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ณ ห้องประชุมตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมี พล.ต.ต.กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 (ผบช.ภ.6) , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท./รอง ผอ.ฉก.88 , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รอง ผบช.ทท./ผู้ช่วย ผอ.ฉก.88 , นายสวนิตย์ สุริยกุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก , พล.ต.ต.ระวีพรรษ อมรมุนีพงศ์ รอง ผบช.ภ.6 รรท.ผบก.ภ.จว.ตาก , พล.ต.ต.ทรงกลด เกริกกฤตยา ผบก.ปคม. และผู้แทนหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ทหาร กองกำลังนเรศวร และชุดเฉพาะกิจราชมนู , สำนักงาน กสทช. , ด่านศุลกากร , ฝ่ายปกครอง ร่วมประชุม

ที่ประชุมได้รายงานและหารือสถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และสถานการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเมียนมา หลังจากทางการไทยใช้มาตรการตัดไฟ-อินเทอร์เน็ต- น้ำมัน ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกลุ่มแก๊งดังกล่าว ประกอบกับการที่ประเทศไทยเสียสละทั้งกำลังพล ทรัพยากร เศรษฐกิจ ช่วยเหลือนานาประเทศ ทำให้มีการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา มีการจับกุมคนต่างชาติจำนวน 32 สัญชาติ รวมจำนวน 8,698 ราย ในจำนวนนี้ได้ดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทางแล้ว 13 สัญชาติ จำนวน 7,011 ราย คงค้างรอส่งกลับ 1,687 ราย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ายังมีการปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์อีก 2 แห่ง ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการตัดไฟ-อินเทอร์เน็ต- น้ำมัน ของทางการไทย จากการสืบสวนทราบว่ามีคนที่เกี่ยวข้องทำงานในแก๊งกล่าวรวมเกือบ 3,000 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ขยายผลตรวจสอบว่ามีคนไทยไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการหรือไม่

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) หากคัดแยกเบื้องต้นแล้วพบข้อบ่งชี้ว่าเป็นเหยื่อ จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองขั้นตอนต่อไป แต่หากคัดแยกแล้วไม่พบข้อบ่งชี้ว่าเป็นเหยื่อ ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที และหากพบมีการลักลอบเข้าไทย แม้อ้างว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์แล้วหลบหนีมา ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองและดำเนินการตามกฎหมายทุกรายเช่นกัน จะต้องไม่ให้มีการใช้กลไก NRM ในการฟอกตัว

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า การดำเนินการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ประสบความสำเร็จ คือความรวดเร็วในการกวาดล้างและส่งกลับ ต้องมีกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติการที่ชัดเจน และเจ้าหน้าที่ของไทยต้องทำทุกมิติไม่ให้ประเทศไทยเป็นทางผ่านของผู้จะเข้าร่วมขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต้องร่วมกันซีลชายแดนให้เข้มข้นเพื่อไม่ให้มีการใช้เส้นทาง อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นทางผ่านเข้าออกอีกต่อไป รวมทั้งตรวจสอบยุทธปัจจัยต่าง ๆ เช่น ที่พัก โรงแรม ยานพาหนะ อย่างเข้มงวด และขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องสนับสนุนข้อมูล เพื่อปราบปรามดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หากพบมีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรืออำนวยความสะดวกกับกลุ่มแก๊งดังกล่าว จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดทุกราย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ต้องร่วมกันเดินหน้าเต็มกำลังในมาตรการระเบิดสะพานโจร ตัดสัญญาณโทรศัพท์-อินเตอร์เน็ต , ปราบบัญชีม้า ทั้งบัญชีธนาคารและบัญชีคริปโต , ป้องกันปราบปรามทั้งคนไทยและต่างชาติไม่ให้ข้ามไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านได้ เพื่อเป้าหมายในการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หมดสิ้นภายในปีนี้.